ECAT สอวช. บพข. สกสว. และคณะผู้บริหาร เข้าเยี่ยมชมผลงานวิจัยรถไฟรางเบา และยานยนต์ไฟฟ้า ที่ มทร. อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน)
6 January 2024เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2567 ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย นายปริพัตร บูรณสิน อุปนายกสมาคมฯ นายอภิชัย ไตรภัทร กรรมการสมาคมฯ พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. (สอวช. และบพข.) และคณะ เข้าร่วมหารือกับอาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดี ผศ.ดร.หริส ประสารฉ่ำ ผู้ช่วยอธิการบดี และดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานวัตกรรมด้านระบบรางและการขนส่ง เกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต และยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไปสู่อุตสาหกรรม ณ ห้องประชุมประดู่ส้ม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขต (มทร. อีสาน) ขอนแก่น
โดย อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า มทร. อีสาน ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เนื่องจากเป็นหัวใจในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีหลักสูตรที่ได้มีการปรับปรุงและอยู่ระหว่างการปรับปรุง เช่น หลักสูตรทางด้านยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และหลักสูตรด้านวิศวกรรมระบบราง
สำหรับหลักสูตรทางด้านยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงนั้น ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มีเพียงหลักสูตรระยะสั้นเป็นระยะเวลา 3 วัน โดยใช้ชื่อหลักสูตรระยะสั้นว่า “โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV)” ปัจจุบันมีผู้ผ่านหลักสูตรดังกล่าวแล้ว 3 รุ่น จำนวนประมาณ 60 คน โดยผู้ที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวจะสามารถจัดทำแบตเตอรี่แพ็คได้เอง และต่อวงจรขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าด้วยตนเองได้ ในส่วนของสนับสนุนจากภาครัฐนั้น ทางหลักสูตรเห็นว่าภาครัฐควรสนับสนุนชิ้นส่วนมูลค่าสูงสำหรับการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ แบตเตอรี่ มอเตอร์ และ ชุดควบคุม เพื่อให้เข้าถึงชิ้นส่วนดังกล่าว และสามารถดำเนินการดัดแปลงได้ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก นอกจากนี้ภาครัฐควรสนับสนุนอุปกรณ์ทดสอบมอเตอร์และทดสอบแพ็คแบตเตอรี่ รวมถึง อุปกรณ์ปฏิบัติงาน เช่น เครื่องเชื่อมขั้วแบตเตอรี่ด้วยวิธี Laser หรือ Ultrasonic
ดูรูปเพิ่มเติมที่ https://www.nxpo.or.th/th/22279/