ECAT ร่วมกับ สอวช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เรื่อง “ทิศทางนโยบายการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย”
5 February 2024เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย (ECAT) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เรื่อง “ทิศทางนโยบายการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย” ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 สอวช. อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน จำนวนทั้งหมดรวม 20 หน่วยงาน
โดยในที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงแนวทางการสนับสนุนการผลักดันนโยบายของภาครัฐ จากกรณีการประชุมตรวจเยี่ยมราชการ ติดตามความคืบหน้าการดําเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และการเชื่อมโยงระบบขนส่งและเดินทางในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ประธานการประชุมฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือกัน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีการระบุถึงโครงการต้นแบบการดัดแปลงรถสองแถวในจังหวัดเชียงใหม่ให้ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เพื่อลดการใช้รถยนต์ที่มีมลพิษในเขตเมือง โดยในที่ประชุมมีการวิเคราะห์ถึงทิศทางและความเป็นไปได้ของโครงการที่อาจจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ และการเตรียมความพร้อมในมิติต่าง ๆ เพื่อรองรับในเบื้องต้น
โดยสรุป ที่ประชุมฯ ได้ร่างกำหนดการดำเนินงานร่วมกัน โดยในเบื้องต้นมองภาพรวมว่า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย (สดป.) หรือ Electric Vehicle Conversion Association of Thailand (ECAT) ซึ่งได้มีการก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2566 โดยกลุ่มวิศวกร นักวิชาการ นักอุตสาหกรรม และผู้ที่สนใจเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของไทยไปสู่อุตสาหกรรม ได้กำหนดเป้าหมายการสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาล โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1. เป้าหมายระยะสั้น (ภายใน 6 เดือน) อย่างน้อยควรมีส่วนสนับสนุนในการให้ข้อคิดเห็นต่อมาตรฐาน ข้อบังคับ และการผลักดันด้านยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงระดับชาติ 2. เป้าหมายระยะกลาง (ภายใน 1 ปี) อย่างน้อยควรจะต้องผลักดันให้มียานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงนำร่องที่สามารถใช้งานวิ่งอยู่บนท้องถนนได้ไม่น้อยกว่า 1,000 คัน และควรมีผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่อยู่ซับพลายเชนที่เป็นคนไทยไม่น้อยกว่า 100 ราย และ 3. เป้าหมายระยะยาว (ภายใน 3-5 ปี) อย่างน้อยควรจะต้องสามารถส่งออกเทคโนโลยีและโซลูชั่นยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงประเภทต่าง ๆ ในระดับสากล เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและโซลูชั่นยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของโลก (Thailand is a Global Center for EV Conversion Technology and Solution) ต่อไป