พิธีเปิดตัวสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย (สดป.) หรือ Electric Vehicle Conversion Association of Thailand (ECAT)
16 February 2024เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศเดินหน้าแผนพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศทันที หลังนายกฯ มีคำสั่งแต่งตั้ง รมว.อว. เป็น ‘บอร์ดอีวี’ โดยมีการแถลงเปิดตัวนโยบาย “อว for EV” พร้อมกันนี้ได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดตัวสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย (สดป.) หรือ Electric Vehicle Conversion Association of Thailand (ECAT) สู่สาธารณะเป็นครั้งแรก และถ่ายรูปร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย นายกสมาคมฯ และคณะกรรมการสมาคมฯ เพื่อเป็นที่ระลึก ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยสมาคมฯ ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2566 โดยกลุ่มวิศวกร นักวิชาการ นักอุตสาหกรรม และผู้ที่สนใจเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน จำนวนรวม 19 หน่วยงาน ซึ่งนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของไทยไปสู่อุตสาหกรรมแล้ว ยังจะเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการสร้างและพัฒนากำลังคน ยกระดับการพัฒนาด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย และเป็นพื้นที่ว่างตรงกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ องค์ความรู้ เทคโนโลยี และการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ จากทั้งในและต่างประเทศ
โดยกระทรวง อว. มีการปรับปรุงแผนด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ให้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็น แผนงานสำคัญ (Flagships) ของกองทุน ววน. และมีนโยบายในการผลักดัน 3 แผนงานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ 1. EV-HRD การพัฒนาทักษะกำลังคน เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าผ่านการสร้างและพัฒนา UP SKILL, RE SKILL และ NEW SKILL จำนวน 150,000 คนภายใน 5 ปี และพัฒนากำลังคนวัยทำงานและกำลังคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน จำนวน 5,000 คนต่อปี โดยผ่านกลไกสนับสนุน เช่น การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม การปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาโดยความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม การให้สิทธิพิเศษหรือส่งเสริมบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์แบบเดิมเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมในอุตสาหกรรม EV การสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดิมให้สามารถปรับเปลี่ยนระบบการผลิตให้รองรับอุตสาหกรรม EV 2. EV-Transformation การส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้ อว. ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ 3. EV-Innovation การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยมอบหมายให้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน 3 แผนงานดังกล่าวข้างต้นตามลำดับ และมีหน่วยงานภายในกระทรวงอีกเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) เป็นต้น ร่วมดำเนินการและให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง
นางสาวศุภมาส กล่าวทิ้งท้ายว่า นโยบาย “อว. For EV” ถือเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในกระทรวง อว. เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม EV ยกระดับคุณภาพชีวิตในหลายมิติ และมีความเชื่อว่านโยบายทั้ง 3 แผนงานนี้ จะเป็นกำลังสำคัญที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น EV HUB ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และก้าวไปสู่เป้าหมายการผลิตยานยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี ตามเป้าหมายรัฐบาล ซึ่งนอกจากช่วยยกระดับความความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการแล้ว ยังช่วยลดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน และกำลังจะกลายเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต หากไม่เร่งช่วยกันแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป