ECAT เข้าหารือร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เรื่อง “การกำหนดทิศทางและผลักดันมาตรฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในประเทศไทย”

13 February 2024

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย (ECAT) ได้เข้าพบและหารือร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เรื่อง “การกำหนดทิศทางและผลักดันมาตรฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในประเทศไทย” ณ ห้องประชุม 214 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม


ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย นายกสมาคมฯ นายปริพัตร บูรณสิน อุปนายกสมาคมฯ และผู้แทนกรรมการสมาคมฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและสอบถามในด้านมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในปัจจุบัน และแนวทางการพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมในอนาคต ร่วมกับผู้แทนจาก สมอ. นำโดย นายชัยวิชิต ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองกำหนดมาตรฐาน (กก.) และนางศิริพร ศรีธนวงศ์ชัย ผู้อำนวยการกองกำกับองค์กรด้านการมาตรฐาน (กอ.) โดย นายปริพัตร บูรณสิน ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานทั้ง 4 ประเภทจากผู้แทน สมอ. ซึ่งควรจะครอบคลุมมาตรฐานทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง คือ 1. มาตรฐานของอู่หรือศูนย์ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง 2. มาตรฐานด้านชิ้นส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง 3. มาตรฐานด้านการดัดแปลงตามหลักวิศวกรรม 4. มาตรฐานการติดตั้งอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง


โดยทางผู้แทนจาก สมอ. ได้ให้ข้อมูลว่าในส่วนของมาตรฐานของอู่หรือศูนย์ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง นั้น ในปัจจุบันทาง สมอ. ได้มีการออกมาตรฐาน มอก. เอส 221-2565 ว่าด้วย การบริการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Modification Services) ซึ่งในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการบางส่วนทยอยยื่นขอรับรองมาตรฐานดังกล่าวแล้ว ในส่วนของมาตรฐานด้านชิ้นส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่ผลิตภายในประเทศ ทาง สมอ. ก็ได้มีการออก มอก. ผลิตภัณฑ์รองรับไว้แล้ว อาทิ มอก. 3630-2566 ว่าด้วย ชุดชิ้นส่วนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion KIT For Electric Motorcycle) อย่างไรก็ดีในส่วนของมาตรฐานชิ้นส่วนที่นำเข้า อาจจะยังมี มอก. ไม่ครอบคลุมทุกชิ้นส่วน ในส่วนของมาตรฐานด้านการดัดแปลงตามหลักวิศวกรรม ก็มีมาตรฐานในการดัดแปลงตามที่กรมการขนส่งทางบกระบุไว้อยู่แล้วที่ว่าจะต้องมีวิศวกรเครื่องกล และวิศวกรไฟฟ้า ระดับสามัญขึ้นไปหรือเทียบเท่า รับรองร่วมกัน 2 คน และ ส่วนสุดท้าย มาตรฐานการติดตั้งอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง นั้น ปัจจุบันประกาศจากทาง สมอ. อาจจะยังไม่ครอบคลุมในมาตรฐานดังกล่าว


โดยสรุป อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีผู้ที่สนใจจำนวนมากและมีความหลากหลายทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ ผู้ใช้งานและกระบวนการดัดแปลง ดังนั้น ในการออกมาตรฐานหลาย ๆ อย่างจึงอาจจะยังไม่ครอบคลุมหรือยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ทาง สมอ. จึงมีกลไกที่เปิดให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมเช่น สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย (ECAT) สามารถเสนอร่างมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงมายัง สมอ. ได้ เพื่อเร่งรัดกระบวนการในการจัดทำมาตรฐานของประเทศ และทาง สมอ. ยินดีที่จะให้ข้อมูลและความรู้เรื่องมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงแก่สาธารณชนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป